บุคลิกภาพดีมีเสน่ห์ (ตอนที่ 1 หลักการแนะนำตัว)
- weerada kawinraweebarirak
- 8 ส.ค. 2566
- ยาว 1 นาที
โดย อาจารย์วีย์รฎา กวิณรวีบริรักษ์

ปกติเวลาไปบรรยายนอกสถานที่พบปะผู้คนมากมายทั้งภาคราชการและภาคเอกชน ทำให้พบเจอกัลยาณมิตรหลากหลายอาชีพ สิ่งที่ตนเองพยายามจำขึ้นใจเสมอคือพยายามจำชื่อผู้ที่ได้รู้จัก ได้สนทนาปราศรัยด้วยทุกคนให้ได้ซึ่งในโอกาสข้างหน้าเมื่อใดก็ตาม หากพบเจอกันอีกครั้งจะได้เรียกชื่อท่านนั้นได้ด้วยรอยยิ้มพิมพ์ใจ บางครั้งจึงต้องอาศัยการจดบันทึกชื่อ ลักษณะสำคัญอัตลักษณ์ (Identity)* พิเศษ 3 สิ่งในบุคคลนั้น
เพราะอะไรเล่า ท่านทราบหรือไม่ ?
การจำชื่อเรียกชื่อได้นั้น..ถือเป็น “เสน่ห์ที่น่าประทับใจ” เชื่อมมิตรภาพแก่คู่สนทนา หากจดจำได้นับว่าเป็นพรสวรรค์ชั้นเยี่ยมทีเดียว แต่ถ้าจำนวนคนมากเป็นร้อยคงจำไม่ไหว ต้องอาศัยเทคนิคเฉพาะในการจดจำบุคคล 3 สิ่งและการบันทึกที่ละเอียดแล้วล่ะ !
การจำชื่อได้จึงเป็นการสร้างบุคลิกภาพ (Personality) ที่ดีให้เกิดแก่ตัวเรา นอกจากจำชื่อเรียกชื่อได้แม่นยำแล้ว สิ่งสำคัญในการสร้างบุคลิกภาพที่ดีในตนเองคือ หลักการแนะนำตัวให้ผู้พบเจอประทับใจ สร้างความเคารพให้เกียรติยกย่อง
เพราะการแนะนำตัวที่ถูกต้อง เป็นการให้เกียรติผู้ที่เราแนะนำอีกทั้งยังเป็นมารยาทสำคัญในการทำงานทุกสถานที่ที่ทุกท่านต้องพึงมีไว้
หลักการแนะนำตัวแบ่งออกเป็น 3 แบบ
1. แนะนำตัวเราแก่ผู้อื่น
แนะนำโดยวาจา : แจ้งชื่อจริง-นามสกุล ตำแหน่ง แก่ผู้ที่สนทนาด้วยพร้อมยกมือสวัสดีทักทายตามระดับความอาวุโส เทคนิคการยกมือไหว้ทักทายง่ายๆให้จำที่ระดับปลายนิ้วชี้เป็นเกณฑ์ หากระดับอายุเท่ากันหรือผู้นั้นอายุน้อยกว่าปลายนิ้วชี้อยู่ระหว่างอก กรณีรับไหว้ลูกค้าแขกผู้มาเยือนหรือไม่ทราบอายุผู้ที่สนทนาด้วยให้ปลายนิ้วชี้อยู่ที่ปลายจมูก หากต้องแนะนำตัวแก่ผู้ที่อาวุโสกว่ายกมือสวัสดีปลายนิ้วชี้อยู่ระหว่างคิ้ว
เทคนิคการไหว้ที่สวยงามและถูกต้อง
การค้อมเอียง 3 สิ่ง ศีรษะ คอ ไหล่
นิ้วมือเรียง 5 นิ้ว ฝ่ามือประกบตูมเล็กน้อยคล้ายดอกบัว
ท่อนแขนเหยียดแนบอกข้อศอกรูปตัววี (V)
ยืนเท้าทำมุมเล็กน้อยรูปตัววี (V) หรือตัววาย (y) ตามโอกาสที่เหมาะสม
แนะนำโดยให้นามบัตร : ขออนุญาตให้นามบัตร โดยยื่นนามบัตรส่งให้ผู้รับได้ 2 แบบ คือ ส่ง 2 มือ และส่งนามบัตรด้วยมือขวา มือซ้ายแตะปลายข้อศอกขวาเล็กน้อย
2. แนะนำผู้อื่น
แนะนำให้รู้จักบุคคลที่ 3 หลักเกณฑ์การแนะนำคือแนะนำผู้ดำรงตำแหน่งสูงกว่าแก่ผู้ตำแหน่งต่ำกว่า จำง่ายๆว่าแนะนำเด็ก/ผู้น้อยให้รู้จักผู้อาวุโสก่อน จึงค่อยแนะนำว่าคนที่พามารู้จักเป็นใคร เช่น กรณีพาพนักงานใหม่ตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาดทำความรู้จักในแผนกการตลาด ฝ่ายบุคคลพาเข้ามาพบผู้จัดการแผนกการตลาด
จึงแนะนำว่า…
“ท่านนี้คือคุณสมชาย ผู้จัดการแผนกการตลาดค่ะ คุณพลอยใส” “คุณสมชายคะ ขออนุญาตแนะนำคุณพิมพลอยเจ้าหน้าที่การตลาดคนใหม่ค่ะ ”
แนะนำตำแหน่งที่เท่าเทียมกัน ให้แนะนำสุภาพสตรีก่อนสุภาพบุรุษเพื่อเป็นการให้เกียรติ
แนะนำกลุ่มบุคคลที่มาจำนวนมาก ให้แนะนำแขกผู้มาเยือนรู้จักกับเจ้าของสถานที่/ผู้อาวุโสระดับบริหารสถานที่นั้นก่อนจึงแนะนำกลุ่มผู้มาเยือน
3.แนะนำตัวเองทางโทรศัพท์
ให้ผู้รับสายทักทาย แนะนำตนเองและสถานที่ก่อนจึงสนทนาต่อไป ถือเป็นมารยาทในการรับทางโทรศัพท์ เว้นเสียแต่ปลายสายที่โทรมาชิงสนทนาเสียก่อน ไม่ผิดหลักอะไรแต่เมื่อสนทนาจบทางโทรศัพท์ให้กล่าวขอบคุณก่อนวางสาย
อัตลักษณ์ (Identity)* มาจากภาษาบาลีว่า อตฺต + ลักษณ โดยมีความหมายว่าคุณลักษณะเฉพาะตัว
Comments